ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มโนธรรมสำนึกในมนุษย์ : กลอนเปล่า



มโนธรรมสำนึกในมนุษย์ : กลอนเปล่า

    เคยเชื่อตลอดมาว่ามนุษย์
มีมโนธรรมสำนึกที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุด
ด้วยจินตนาการอันเรืองรองผ่องผุด
ประดุจดอกไม้ที่ใคร่เบ่งบาน

    หากแต่นับวันนับการณ์ที่ผ่านพบ
ประสบกับเหตุ-ผล อันสับสนอลหม่าน
ในระดับโลก ประเทศ ภูมิภาค และแม้แต่ในบ้าน
จึงประจักษ์กับหลักฐานว่าสิ่งที่เชื่อนั้น
หาได้มีอยู่จริง

    สิ่งของเครื่องใช้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการค้าหากำไร
หลายสิ่งมากมายมุ่งหมายทำลายชีวีหน
เพียรผลาญสิ่งแวดล้อม เพื่อห้อมหาวัตถุดิบ
เพิ่มการผลิต ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าสุดท้ายจะให้มลพิษ
ก่อวิกฤติแก่สรรพชีวิตและโลกา

    นโยบายรัฐทั่วโลกในการจัดสรรทรัพยากร
มิได้สะท้อนอุดมการณ์อันสูงค่า
ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและผู้หนุนหลังยังคงนำมา
เป็นหลักพินิจพิจารณา
นโยบายทั้งหลาย คล้ายเป็นแค่เครื่องมือแสวงหา
ผลประโยชน์ส่วนรวมถ่ายเทมา เป็นของส่วนตน

    กระบวนการยุติธรรม เปรียบได้ดั่งกระบวนการสร้างภาพ
มนุษยธรรม ถูกใช้สำหรับเป็นข้ออ้าง เพื่อตั้งตัวเองเป็นผู้ประเสริฐเลิศล้น
การศึกษา มุ่งหาแรงงานป้อนอุตสาหกรรม อย่างยอมจำนน
ล้วนทำลายมโนธรรมสำนึกในใจคน
ให้เสื่อมสูญ มืดมน อนธการ

    คนธรรมดาสามัญ จะทำตามความอยาก
อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้เป็น คือพื้นฐาน
เมื่อปราศจากซึ่งความอยาก กลับรู้สึกอ้างว้าง ระคนรำคาญ
ความอยาก จึงเปรียบเสมือนเป็นพลังงาน
ผลักดันความเคลื่อนไหวให้ชีวิต

    เพราะมีกิเลสตัณหามาเกี่ยวข้อง
ครรลองของความดี ความถูกต้อง
จึงบกพร่อง บิดเบือน เบี่ยงเบน และไม่สุจริต
กระบวนการตัดสินใจ การใช้ดุลยพินิจ
จึงเกิดพลาดผิด ทุจริตผิดครรลองคลองธรรม

    ผู้มุ่งหมายจะไปให้ถึงซึ่งจุดหมายปลายทางแห่งความดีงาม
ต้องการบรรลุสู่ความประเสริฐเลิศล้ำ
จึงต้องเอาใจใส่ในการกำจัดกิเลสตัณหา
ลดละชำระล้างธุลี ให้พ้นไปจากฤดีเป็นประจำ
อย่าปล่อยกิเลสตัณหาให้เข้ามาครอบงำ
ความคิด การตัดสินใจ ย่อมบริสุทธิ์สดใสสวยงาม
ประดุจมีแสงสว่างส่องทางกระจ่างจินต์ ฯ

๑ สิงหาคม ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น