ยินดีต้อนรับ อาคันตุกะ ทุกท่าน

สมัคร Blogger.com ตั้งแต่ยังเป็นเว็ปอิสระ ต้องสร้างรหัสผ่าน แต่ตอนนั้นเพิ่งหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงทำผิดพลาดตอนสร้างรหัส ทำให้บล็อก avijjabhikkhu เข้าไม่ได้ ต้องสร้างบล็อกใหม่ใช้ชื่อใหม่ จากคำว่า bhikkhu เป็น pikkhu แทน
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา-ข้อมูล-สติปัญญา-ความรู้ความสามารถ-ความรีบเร่ง ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ผู้เขียนขออภัยเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำเพื่อการแก้ไขความผิดพลาด ผู้เขียนไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการคัดลอก การนำไปเผยแพร่ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ขอเพียงแต่อย่าแอบอ้างว่าเป็นผลงานของผู้อื่น แต่ผู้เขียนขอสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ สำหรับการนำไปเผยแพร่เพื่อการค้าหากำไร
*นักเรียน อย่าลอกเป็นการบ้านไปส่งครูนะครับ เพราะไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ดูไว้เป็นตัวอย่างก็พอ
มีอะไรสงสัย ไม่เข้าใจ ต้องการคำอธิบาย ก็ถามมาได้

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

การให้-การรับ : กาพย์ยานี๑๑



การให้-การรับ : กาพย์ยานี๑๑

     การให้ ด้วยเมตตา....................เป็นอุปกา ระเลิศศรี
เกื้อหนุน คุณความดี.......................ก่อเกิดมี ในใจตน

    ต่างจาก หลักการให้...................เพราะเลศนัย มุ่งหมายผล
ทวงบุญ คุณจากคน........................ที่ตนให้ ไปกับมือ

    เมตตา จึงอย่าไร้........................ซึ่งหัวใจ ใสสัตย์ซื่อ
ปรารถนาดี วิถีคือ...........................ระบือค่า ประเสริฐสม

    แต่ทว่า คนบางคน......................มีกระมล อันโง่งม
พาโล และโสมม............................อุดมทราม ดามนิสัย

    ปราศจาก จิตสำนึก.....................รู้สึกซึ้ง บุญคุณใคร
หักหลัง ยังทำได้............................ย่ำยีให้ เสียน้ำตา

    เมื่อพบ พาลเช่นนี้.......................เร่งหลีกหนี จะดีกว่า
ป่วยการ ทานเมตตา........................ให้(คน)เมินค่า (ความ)ปรารถนาดี

    จะรับ จงประทับจิต.......................บุญคุณคิด พินิจศรี
กตัญญู กตเวที...............................คือวิสัย คนใจงาม

    ไม่อยาก มีบุญคุณ........................ใครเจือจุน จงมองข้าม
ไม่รับ ไม่ถูกประณาม........................เป็นคนทราม กรรมหยาบช้า

    ให้ง่าย ไม่หวงแหน......................(จะถูก)เขาดูแคลน แร้นคุณค่า
รับง่าย ไร้ปัญญา.............................(จะตก)เป็นขี้ข้า บริวาร

    การรับ กับการให้..........................อย่าอาศัย แค่ใจหาญ
เมามัว ชั่วสามานย์............................สิบันดาล เวรกรรม์สนอง

    การให้ และการรับ.........................จงสดับ ผลจับจ้อง
กระทำ ตามครรลอง...........................ของศีลธรรม จึงงามเอยฯ

๑๓ กันยายน ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น